การขยายตัวของสังคมเมืองของกลุ่มประเทศสมาชิกเออีซี (The urbanization of AEC member states)
การพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกเออีซีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงทำให้มูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) เจริญเติบโตเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนามและลาว ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย (CAGR) เกิน 10% ต่อปี ในช่วงปี 2010 -2021 และสิ่งที่เจริญเติบโตควบคู่กับ GDP คือ การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ของประเทศสมาชิก โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ เม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระดับภูมิภาค และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าภูมิภาคเออีซีอย่างต่อเนื่อง
ตาราง 1 GDP at PPP และสัดส่วนของสังคมเมือง (% Urbanization) ของกลุ่มประเทศสมาชิกเออีซี*
ประเทศ | GDP at PPP (พันล้านเรียญสหรัฐฯ) | สัดส่วนของสังคมเมือง (% Urbanization) | ||||
2010 | 2021 | CAGR (%) | 2010 | 2021 | เปลี่ยนแปลง (%) | |
อินโดนีเซีย | 2,057.2 | 3,566.3 | 6% | 49.9% | 57.3% | 7.4% |
ไทย | 886.8 | 1,343.7 | 4% | 42.0% | 56.0% | 14.0% |
มาเลเซีย | 578.6 | 970.7 | 5% | 71.0% | 77.3% | 6.3% |
สิงคโปร์ | 382.7 | 635.3 | 5% | 100.0% | 100.0% | – |
ฟิลิปปินส์ | 528.7 | 1,012.7 | 7% | 45.3% | 47.7% | 2.4% |
บรูไน | 31.2 | 29.3 | -1% | 75.0% | 78.6% | 3.6% |
เวียดนาม | 371.2 | 1,134.2 | 12% | 30.4% | 37.1% | 6.7% |
ลาว | 22.6 | 64.8 | 11% | 30.1% | 36.9% | 6.8% |
เมียนร์มา | 161.8 | 270.0 | 5% | 28.9% | 31.4% | 2.5% |
กัมพูชา | 34.7 | 79.4 | 9% | 20.3% | 24.7% | 4.4% |
ที่มา: Key Indicators for Asia and The Pacific 2022 by Asian Development Bank
* หมายเหตุ:
- PPP หรือ Purchasing Power Parity หมายถึง ภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ ซึ่งวัดในหน่วยเงินดอลล่าสหรัฐฯ
- % Urbanization คือ สัดส่วนของประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด
ตาราง 1 สรุปข้อมูลสถิติของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการขยายตัวของสังคมเมืองสูงสุดในอาเซียน โดยช่วงปี 2010 -2021 เพิ่มขึ้นถึง 14% ในขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และลาว สังคมเมืองขยายตัวในช่วงเวลาเดียวกัน ประมาณ 6 – 7% สำหรับสิงคโปร์นั้น ประเทศมีความเป็นสังคมเมือง 100% จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด กล่าวได้ว่า การขยายตัวของสังคมเมืองในประเทศสมาชิกเออีซี ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากชนบทสู่เมือง (Social Transformation) คนจำนวนมากมาอยู่อาศัยรวมกันจนกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากเมืองศูนย์กลางออกไปยังเมืองอื่นของประเทศ ทำให้เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคน กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตแบบเร่งตัวมากขึ้น และตัวชี้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจของหลายประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผมจะนำเสนออย่างต่อเนื่องในอนาคต
โดย ดร.พุฒิสิทธิ์ ตั้งสิริหิรัญกุล (ดร.นนท์)
อ้างอิง (Source):
- https://www.adb.org/sites/default/files/publication/812946/ki2022.pdf
- https://www.adb.org/sites/default/files/publication/844296/ado-supplement-december-2022.pdf
- https://unctad.org/system/files/official-document/tdstat47_en.pdf