นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมามีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก มีการยกเลิก พรก.ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมีการเจริญเติบโตมากขึ้น และการเปิดประเทศต้อนรับการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ถึงแม้ว่าจะเผชิญความเสี่ยงจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี แต่ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่อาจปิดกั้นการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2566 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.8 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้ประกาศให้โรคไข้หวัดใหญ่โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น สิ่งที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกได้กล่าวถึงอย่างจริงจัง คือ พฤติกรรมการดำรงชีวิตและการทำธุรกิจของมนุษย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จนเกิดภาวะเศรษฐกิจใหม่ที่ถูกเรียกกันว่า New Normal โดยมีปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่นิยมเรียกกันว่า VUCA โดยถ้าจะพูดให้ชัดเจนขึ้น VUCA คือ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งมีความผันผวน (Volatility) มีความไม่แน่นอน (Uncertainty) มีความสลับซับซ้อน (Complexity) และมีความคลุมเครือ (Ambiguity) ส่งผลให้องค์กรทั่วโลกต้องมีความระแวดระวังความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด (Unexpected Risks) และสร้างความรวดเร็วในการปรับทิศทางกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจ เพิ่มทักษะและขีดความสามารถของผู้บริหารและบุคคลในองค์กรให้ทันสมัยอยู่เสมอเพื่อก้าวไปข้างหน้า
นอกจากปรากฏการณ์ VUCA แล้ว สิ่งที่องค์กรทั่วโลกได้ให้ความสำคัญอย่างสูงและถูกกำหนดให้เป็นนโยบายหลักของการทำธุรกิจ คือ กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability Strategy) หรือกลยุทธ์ด้าน ESG ซึ่งมีสาระสำคัญที่ครอบคลุมเรื่อง การสร้างสมดุลให้สิ่งแวดล้อม (Environment) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Society) และธรรมาภิบาล (Governance) ในการทำธุรกิจ โดยกลยุทธ์ ESG นั้น จะต้องดำเนินการครอบคลุมไปทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Supply Chain) ครอบคลุมทั้ง ธุรกิจต้นน้ำ ธุรกิจกลางน้ำ และธุรกิจปลายน้ำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน IMD ผู้นำองค์กรยุคปัจจุบัน (คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารระดับสูง) ต้องรับมือกับความท้าทายใหญ่ทั้ง 2 มิติที่กล่าวไว้ข้างต้น และเพื่อให้การ มีประเด็นเชิงกลยุทธ์ (Strategic Issues) ที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจัง ดังต่อไปนี้
- ผู้นำองค์กรกำหนดให้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเป็นวาระสำคัญขององค์กรหรือไม่ ทุกการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์เกิดจากการเห็นความสำคัญของปัญหาและกำหนดเป็นนโยบายระดับองค์กร การสนับสนุนทรัพยากรให้ดำเนินการอย่างเพียงพอ และการติตดามการดำเนินการอย่างไม่ลดละ โดยผู้นำองค์กร
- มีการสร้างแรงจูงใจเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญกับทิศทางและโมเดลการทำธุรกิจ การปฏิบัติการ และผลประกอบการ อาจก่อให้เกิดการไม่ยอมรับหรือไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ และเป็นภารกิจที่ผู้นำองค์กรต้องร่วมกันสร้างเงื่อนไขแห่งการเปลี่ยนแปลงพร้อมกับการใช้มาตรการจูงใจ (Incentive Measures) เพื่อขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กรในทิศทางด้านความยั่งยืน
- ทักษะและความพร้อมโดยรวมของบุคลากรในองค์กรอยู่ในระดับใด หลายองค์กรมีความตั้งใจอย่างดีเยี่ยมในการปรับเปลี่ยนทิศทางองค์กรและประกาศนโยบายใหม่ แต่ผู้บริหารและพนักงานยังขาดความเข้าใจและขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจังควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนองค์กร (Organization Transformation)
- ทักษะเฉพาะด้านของบุคลากรสามารถสร้างผลกระทบต่อความสำเร็จได้หรือไม่ หลายองค์กรมีการนำหลักการจัดการสมัยใหม่เข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ Lean Production การบริหารห่วงโซ่คุณค่า แต่ยังไม่ได้นำทักษะความชำนาญในส่วนนั้นมาขยายผลทั้งองค์กร หรือ ถ่ายทอดให้ทั่งทั้งองค์กร ซึ่งจะมีผลต่อความเป็นรูปธรรมในการนำนโยบายและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนไปปฏิบัติ
- องค์กรมีการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาในเรื่องความยั่งยืนหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงด้วยการนำนโยบายด้าน ESG มาปฏิบัติการเพื่อนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนนั้น ผู้นำองค์กรสามารถตัดสินใจเข้าร่วมเป็นภาคีร่วมกับหน่วยงานภาครัฐบาลและร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมอง ฝึกอบรมและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรด้านความยั่งยืนออกไปยังสังคมในวงกว้างและกับคนรุ่นใหม่ซึ่งมีโอกาสร่วมงานกับองค์กรในอนาคต
โดย ดร.พุฒิสิทธิ์ ตั้งสิริหิรัญกุล (ดร.นนท์)
อ้างอิง (Sources):
- Benoit Leleux and Jan van der Kaaij. (2019). Winning Sustainability Strategies. The Palgrave Macmillan, Switzerland
- https://www.imd.org/ibyimd/brain-circuits/five-questions-leaders-should-be-asking-to-prepare-for-the-future/
- https://www.un.org/sustainabledevelopment/
- https://www.vuca-world.org/
- https://www.who.int/